ชัยยะยนต์ : อะไหล่รถยนต์ Mercedes - Benz และ BMW

บทความ

น้ำมันเครื่องกับคำถามที่พบบ่อย ?

22-06-2551 15:00:11น.

คำถาม-คำตอบเกี่ยวกับน้ำมันเครื่อง

 

 เครื่องยนต์ BMW M6

 

น้ำมันเครื่อง คืออะไร

น้ำมันเครื่องคือส่วนประกอบที่สำคัญมากๆ เนื่องจากเปรียบเสมือนกับเลือดในร่างกายคน ถ้าเลือดดีร่างกายก็ไม่มีโรค แต่ถ้าเลือดไม่ดีก้ทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา เช่นเดียวกับน้ำมันเครื่อง ถ้ามีคุณภาพดีเครี่องยนต์ก็จะมีอายุการใช้งานยาว แต่ถ้าน้ำมันเครื่องคุณภาพต่ำก็ทำให้เครี่องยนต์ชำรุดง่าย อายุการใช้งานก็สั้นลง ฉะนั้นน้ำมันเครื่องจึงมีส่วนอย่างมากในการส่งเสริมให้เครื่องยนต์ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และปกป้องให้เครื่องยนต์ชำรุดเสียหายน้อย ช่วยยืดอายุการซ่อมบำรุง

 

หน้าที่ของน้ำมันเครื่อง คืออะไร

คนส่วนใหญ่เมื่อถามว่าน้ำมันเครื่องมีหน้าที่อะไร จะพร้อมใจกันตอบว่า “หล่อลื่นและป้องกันการสึกหรอ” ซึ่งเป็นคำตอบที่ถูกที่สุด แต่เป็นหน้าที่ที่กว้างเกินไป ถ้าเราลงรายละเอียดลึกลงไปจะเห็นว่ามีหน้าที่ที่สำคัญมากๆ ต่อเครื่องยนต์ซึ่งเรามองข้ามกันไป ทำให้มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเล็กน้อยว่าน้ำมันเครื่องไหนๆ ก็เหมือนกัน ฉะนั้นน้ำมันเครื่องจริงแล้วมีหน้าที่อะไรบ้างเช่น

-          หน้าที่การทำความสะอาดชะล้างสิ่งแปลกปลอมที่เกิดขึ้นภายในเครื่องยนต์และนำลงไปรวมกันที่อ่างน้ำมันเครื่อง

-          กระจายสิ่งแปลกปลอมให้เป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อจะได้ไม่ไปอุดตันไส้กรองน้ำมันเครื่อง

-          ช่วยระบายกันการกัดกร่อนจากกรดกำมะถันที่เกิดจากการเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิงที่ไม่สมบรูณ์

-          ช่วยป้องกันการกัดกร่อนจากกรดกำมะถันที่เกิดจากการเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิงที่ไม่สมบรูณ์

-    ป้องกันกำลังอัดเครื่องยนต์รั่วลงสู่อ่างน้ำมันเครื่อง นั่นคือช่วยลดช่องว่างระหว่างชิ้นส่วนของผนังกระบอกสูบกับแหวนลูกสูบ

นอกจากหน้าที่ที่สำคัญดังกล่าวเบื้องต้นแล้ว ยังมีหน้าที่อีกมากมายที่สำคัญไม่แพ้กัน เช่น ป้องกันการเกิดฟอง ป้องกันการเกิดยางเหนียว ป้องกันสนิม ป้องกันความหนืดเปลี่ยนแปลง ฯลฯ

 

น้ำมันเครื่องแต่ละชนิดต่างกันตรงไหน

ก่อนตอบขอถามก่อนว่า รถเก๋ง รถปิดอัพ รถอเนกประสงค์ (SUV) ทั้งหมดเราเรียกว่ารถยนต์มีหน้าที่เป็นพาหนะ รถทั้ง 3 ทำหน้าที่ได้เหมือนกัน แล้วมีอะไรที่แตกต่างกันครับ สิ่งที่ต่างกันคือ ประสิทธิภาพของรถยนต์ที่ให้ สมรรถนะ ความปลอดภัย ประโยชน์ใช้สอย ความสะดวกสบาย ฯลฯ ทำให้ราคารถยนต์จึงไม่เท่ากัน น้ำมันเครื่องที่มีจำหน่ายกันในท้องตลาดปัจจุบันมีอยู่ 3 ชนิด คือ

-    น้ำมันเครื่องพื้นฐานปิโตรเลี่ยม (Mineral base) คือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการขุดเจาะน้ำมันดิบ และผ่านขบวนการกลั่นน้ำมันส่วนหนึ่งได้มาเป็นน้ำมันพื้นฐานสำหรับผลิตเป็นน้ำมันเครื่อง แล้วนำมากรองสิ่งปนเปื้อนบางส่วนที่ไม่จำเป็นต่อเครื่องยนต์ออก ทำให้ได้น้ำมันเครื่องที่มีคุณภาพพอเพียงต่อการปกป้องและหล่อลื่นเครื่องยนต์ แต่ราคาถูกเนื่องจากต้นทุนการผลิตต่ำ

-    น้ำมันเครื่องพื้นฐานกึ่งสังเคราะห์ (Semi-Synthetic base) คือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำน้ำมันเครื่องพื้นฐานปิโตรเลี่ยมมาผ่านขบวนการทางเคมีอีกรอบเพื่อกำจัดสิ่งปนเปื้อนที่มีขนาดเล็กลงไปอีกออกมา ทำให้น้ำมันเครื่องประเภทนี้มีคุณภาพในการปกป้องและหล่อลื่นเครื่องยนต์สูงขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ราคาก็แพงขึ้นอีกระดับเช่นกัน

-    น้ำมันเครื่องพื้นฐานสังเคราะห์ 100% (Synthetic base) ซึ่งเป็นน้ำมันเครื่องที่ผลิตขื้นจากกรรมวิธีทางเคมีที่ซับซ้อนยุ่งยากทั้งเครื่องมือในการผลิตและวัตถุดิบที่ใช้ ซึ่งบางชนิดก็นำเอาน้ำมันพื้นฐานกึ่งสังเคราะห์มาผ่านขบวนการทางเคมีอีกรอบหนึ่ง ก็มีคุณภาพสูงขึ้นอีกระดับหนึ่ง แต่บางชนิดก็นำก๊าซธรรมชาติที่ได้จากการกลั่นน้ำมันดิบที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรมาผ่านขบวนการทางเคมีด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง ทำให้ก๊าซกลายเป็นของเหลว จึงเป็นประเภทที่มีคุณสมบัติสูง และจะมีราคาแพงที่สุดเช่นกัน

 

น้ำมันเครื่องแต่ละชนิดควรมีระยะการใช้งานเท่าใด

ไม่มีระยะตายตัว เนื่องจากมีตัวแปรสำคัญอยู่ 5 ข้อที่เข้ามาเกี่ยวข้องและทำให้คุณสมบัติของน้ำมันเครื่องเสื่อมลงช้าเร็วไม่เท่ากัน โดยมี่รายละเอียดดังนี้

-    ความสมบรูณ์ของเครื่องยนต์ จากการใช้งานตั้งแต่ออกรถป้ายแดง จนถึงปัจจุบันท่านคิดว่าเครื่องยนต์มีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ? จึงต้องมีการเช็คระยะมาปรับแต่งเครื่องยนต์ให้ได้ใกล้เคียงกับมาตรฐานที่สุด นั้นหมายความว่าเครื่องยนต์ไม่สมบรูณ์แล้ว ฉะนั้นการทำงานของเครื่องยนต์ย่อมต้องผิดพลาด

-    ลักษณะการขับขี่และการใช้งาน แต่ละท่านย่อมมีบุคคลิคและวิธีการขับขี่หรือการเหยียบคันเร่งที่แตกต่างกัน ทำให้เครื่องยนต์ก่อสิ่งแปลกปลอมขึ้นภายในเครื่องยนต์มากขึ้น

-    สภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันทำให้เครื่องยนต์ต้องผลิตสิ่งแปลกปลอมขึ้นภายในเครื่องยนต์ เช่น สภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขา หรือ ชายทะเล หรือ การจราจรที่ติดขัด หรือสภาพถนนลูกรัง เป็นต้น สภาพแวดล้อมลักษณะต่างๆ เหล่านี้ก่อให้น้ำมันเครื่องยนต์ต้องทำงานหนักมากขึ้น

-    การบำรุงรักษา ส่วนใหญ่เมื่อรถยนต์พ้นระยะประกันก็มีการบำรุงรักษาแบบอะไรเสียจึงทำการแก้ไข มิได้ทำการปรับแต่งตามระยะกำหนด จึงทำให้เครื่องยนต์ไม่สมบรูณ์ดังที่คิด

ทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุใหญ่ๆ ที่ทำให้คุณสมบัติของน้ำมันเครื่องในหน้าที่ต่างๆ ลดจำนวนลง ทำให้การปกป้องเครื่องยนต์ของน้ำมันเครื่องแต่ละชนิด แต่ละยี่ห้อ แต่ละคนที่ใช้ จึงมีความสามารถหรือระยะเวลาในการใช้งานไม่เท่ากัน ฉะนั้น เกณฑ์ที่เราพูดถึงกันคือ ระยะ 5,000 – 10,000 กิโลเมตร คือค่าระยะเฉลี่ยที่ควรเปลี่ยน และโดยส่วนใหญ่อ้างอิงจากการใช้งานปกติ มิใช่การใช้งานหนัก แต่ปัจจุบัน เราส่วนใหญ่ใช้งานหนักกันทุกคน ลักษณะการใช้งานเช่น

-          ไม่อุ่นเครื่องให้ถึงอุณหภูมิทำงานก่อนการใช้งาน

-          วิ่งระยะทางสั้นๆ ไม่เกิน 8 กิโลเมตร ต่อการสตาร์ทเครื่อง 1 ครั้ง

-          ติดเครื่องตัวเปล่าไว้นานๆ

-          อยู่ในการจราจรติดขัด

-          บรรทุกหนักเกินกำลัง

-          วิ่งอยู่บนถนนที่มีฝุ่น

-          วิ่งด้วยความเร็วสูงเป็นเวลานานๆ

-          วิ่งขึ้นลงเขาเป็นประจำ

-          วิ่งอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศเค็ม เช่น ริมทะเล เป็นต้น

-          การขับรถเหยี่ยบเบรกบ่อยๆ

 

เครื่องยนต์ BMW 325is

 

มาตรฐานน้ำมันเครื่อง คืออะไร

ความหมายของคำว่า “มาตรฐาน” คือ เกณฑ์ขั้นต่ำที่ถูกกำหนดโดยสถาบันที่เป็นกลางมีหน้าที่ทดสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ว่าผ่านเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่ แต่มิได้บ่งบอกว่าผลิตภัณฑ์ใดมีคุณภาพเหนือกว่ากัน ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ยาสีฟันที่ได้มาตรฐานอาหารและยา (อย.) แต่ อย.ไม่สามารถบอกได้ว่ายี่ห้อไหนดีกว่ากัน แต่ทุกผลิตภัณฑ์ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ฉะนั้น มาตรฐานน้ำมันเครื่องก็เช่นกัน เป็นเพียงเกณฑ์ขั้นต่ำที่สอบผ่าน แต่ผลิตภัณฑ์ยี่ห้อใดรุ่นใดจะมีประสิทธิภาพอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่ใช้และกรรมวิธีการผลิต เช่น มีเทคโนโลยีใดบ้างมาช่วยในการผลิตซึ่งจะส่งผลในระยะยาว หรือต้องใช้การทดสอบเปรียบเทียบซึ่งต้องใช้เวลามากและเสียค่าใช้จ่ายสูง ผู้บริโภคจึงไม่สามารถวัดประสิทธิภาพของน้ำมันเครื่องด้วยตัวเองได้

 

มาตรฐานน้ำมันเครื่องมีอะไรบ้าง

มีมากมายแต่ที่สำคัญและทุกท่านควรทราบมีดังต่อไปนี้

-    SAE (The Society of Automotive Engineers) สมาคมวิศวกรรมยานยนต์ซึ่งทำการทดสอบหาค่าความหนืด (Viscosity) ของน้ำมันเครื่องเท่านั้นโดยกำหนดออกมาเป็นตัวเลข

-    API (American Petroleum Institute) สถาบันการปิโตรเลี่ยมแห่งสหรัฐอเมริกา ทำหน้าที่ทดสอบความสามารถของน้ำมันเครื่องว่าการปกป้องเหมาะสมกับเทคโนโลยีใดของเครื่องยนต์เบนซินหรือดีเซลยุคใด

-    ACEA (Association des Constructeurs Europe’ens d’ Automobiles) สมาคมผู้ผลิตรถยนต์ในทวีปยุโรป ที่แบ่งแยกชัดเจนถึงความสามารถของน้ำมันเครื่องว่าลักษณะใดให้ประสิทธิภาพด้านใด

-    OEM (Original Equipment Manufacturer) มาตรฐานที่ผู้ผลิตรถยนต์แต่ละยี่ห้อเป็นผู้กำหนดเฉพาะเจาะจงลงไปว่าเครื่องยนต์นี้ต้องใช้มาตรฐานอะไร ในปัจจุบันวิศวกรของบริษัทรถยนต์จะร่วมกับวิศวกรของบริษัทน้ำมันเครื่องร่วมกันวิจัยและพัฒนา ทำให้ได้น้ำมันเครื่องที่เหมาะสมกับเครื่องยนต์มากที่สุดสำหรับยี่ห้อหรือรุ่นนั้นๆ

หมายเหตุ มาตรฐานทั้ง SAE และ API คือมาตรฐานที่คนไทยรู้จักและคุ้มเคยมากที่สุดซึ่งเป็นของอเมริกา ฉะนั้นการทดสอบความสามารถของน้ำมันเครื่องก็จะมุ่งเน้นรองรับเครื่องยนต์ที่เป็นเทคโนโลยีของอเมริกา แต่รถยนต์บ้านเราส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีของยุโรปและญี่ปุ่น

 

มาตรฐาน SAE รายละเอียดเป็นอย่างไร

SAE คือ มาตรฐานที่บ่งบอกถึงค่าความหนืดของน้ำมันเครื่องโดยกำหนดออกมาเป็นตัวเลข เริ่มตั้งแต่ SAE 0W, 10W, 15W, 20W, 30, 40, 50, 60 ตัวเลขยิ่งมากค่าความหนืดยิ่งมากซึ่งจะมีผลกระทบกับเครื่องยนต์อยู่หลายประการ ตัวอย่างเช่นผลกระทบต่ออัตราเร่ง การสึกหรอ การสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง อายุการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องเป็นต้น น้ำมันเครื่องแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่คือ

-          ประเภทเกรดเดียว หมายความว่า น้ำมันเครื่องนั้นมีค่าความหนืดค่าเดียว เช่น SAE 10W, SAE 30, SAE 40, ฯลฯ

-    ประเภทเกรดรวม หมายความว่า น้ำมันเครื่องนั้นๆ มีค่าความหนืด 2 ค่าในตัวเดียวกัน เช่น SAE 0W/30, SAE 10W/40, SAE 20W/50 ฯลฯ

-    ในความหมายของเกรดรวม เช่น 10W/30 ค่าความหนืดค่าแรกที่มีตัวอักษร “W” ต่อท้าย หมาจความว่า ที่อุณหภูมิต่ำจะมีค่าความหนืดเท่ากับ 10 ส่วนค่าความหนืดค่าท่าสอง (30) ก็คือ ค่าความหนืดที่อุณหภูมิ 100 C เข็มวัดความร้อนขึ้นอยู่ระดับปกติ = กลาง) มีค่าความหนืดเท่ากับ 30 ฉะนั้นตลอดเวลาน้ำมันเครื่องประเภทเกรดรวมค่าความหนืดก็จะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอดเวลา

วิธีการเลือกค่า SAE

1.      ค่าความหนืดค่าแรก ควรเลือกที่น้อยที่สุด เพื่อประโยชน์ในการลดการสึกหรอขณะสตาร์ท และลดการสิ้นเปลืองได้ดี

2.      ค่าความหนืดค่าที่สอง ควรเลือกให้เหมาะสมกับสภาพเครื่องยนต์ เช่น

-          เครื่องยนต์ใหม่ฟิต ควรเลือกค่า SAE 30 หรือ SAE 40

-          เครื่องยนต์มาการสึกหรอบ้าง ควรเลือกค่า SAE 40 หรือ SAE 50

-          เครื่องยนต์หลวมเล็กน้อย ควรเลือกค่า SAE 50 หรือ SAE 60

 

เครื่องยนต์ Mercedes-Benz CLS500

 

มาตรฐาน API รายละเอียดเป็นอย่างไร

มาตรฐานที่บ่งบอกถึงความสามารถในการปกป้องว่าเหมาะสมกับเทคโนโลยีของเครื่องยนต์เบนซินหรือดีเซลใด ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้

-          สำหรับเครื่องยนต์เบนซิน มีสัญลักษณ์ คือ “S_” เช่น API SL, SM เป็นต้น

-          สำหรับเครื่องยนต์ดีเซล มีสัญลักษณ์ คือ “C_” เช่น API CF-4, CH-4 หรือ CI-4 เป็นต้น

-    ส่วนตัวอักษรที่สองต่อจาก S และ C จะเป็นระดับขั้นการประกาศใช้ให้เหมาะกับเทคโนโลยีที่เครื่องยนต์ต้องการในแต่ละปี

 

เครื่องยนต์ BMW

 

มาตรฐาน ACEA รายละเอียดเป็นอย่างไร

มาตรฐานที่เป็นการรวมตัวของผู้ผลิตรถยนต์ในทวีปยุโรปทั้งหมด และตั้งมาตรฐานนี้ขึ้นมาเพื่อใช้ในกลุ่ม โดยได้แบ่งประเภทของน้ำมันออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ดังนี้

          กลุ่มรถยนต์เก๋งเบนซิน จะใช้สัญลักษณ์ “A” และจะมีระดับบอกถึงประสิทธิภาพต่างๆ กันไปดังนี้

-          A1 มุ่งเน้นเรื่องประหยัดเชื้อเพลิง

-          A2 มีคุณสมบัติทั่วๆ ไป ดีกว่ามาตรฐาน API SJ

-          A3 มุ่งเน้นถึงประสิทธิภาพโดยรวม และเครื่องยนต์ทีต้องการสมรรถนะสูง

-          A4 เครื่องยนต์เบนซินสมัยใหม่สมรรถนะสูง ที่จุดระเบิดแบบไดเร็คอินเจคชั่น (Direct-Injection Ignition)

-          A5 เปรียบเสมือนการนำเอาคุณสมบัติของทั้ง A1 และ A4 มารวมกัน

กลุ่มรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็ก เช่น เก๋ง และปิคอัพเป็นต้น จะใช้สัญลักษณ์ “B” และจะมีระดับบอกถึงประสิทธิภาพต่างๆ กันไปดังนี้

-          B1 มุ่งเน้นเรื่องประหยัดเชื้อเพลิง

-          B2 มีคุณสมบัติทั่วๆ ไปสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็ก

-    B3 มุ่งเน้นถึงประสิทธิภาพโดยรวม และเครื่องยนต์ที่ต้องการสมรรถนะสูง โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซลระบบอินไดเร็คอินเจ็คชั่น (IDI-Indirect Injection)

-          B5 เปรียบเสมือนการนำเอาคุณสมบัติของทั้ง B1, B3 และ B4 มารวมกัน

กลุ่มรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลขนาดใหญ่ จะใช้สัญลักษณ์ “E” และมีระดับบอกถึงประสิทธิภาพต่างๆ กันไปดังนี้

-          E2 มีคุณสมบัติทั่วๆไป สำหรับเครื่องยนต์ดีเซลขนาดใหญ่

-          E3 มุ่งเน้นถึงประสิทธิภาพโดยรวมของเครื่องยนต์ดีเซลขนาดใหญ่ที่มีสมรรถะสูง

-    E4 มุ่งเน้นถึงประสิทธิภาพโดยรวมของเครื่องยนต์ดีเซลขนาดใหญ่ที่มีสมรรถนะสูง และต้องการนำมันเครื่องพื้นฐานสังเคราะห์

-    E5 มุ่งเน้นถึงประสิทธิภาพโดยรวมของเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ที่มีสมรรถนะสูง และระยะการทดสอบคุณสมบัติเพิ่มเติมในมาตรฐาน API CH-4